การกินอาหารรสชาติจัด หรือเค็มเกินไป ทำให้ร่างกายกลับได้รับโซเดียมมากเกินไปในแต่ละวัน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคไต ความดันโลหิตสูง กระดูกพรุน และโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต
ดังนั้นควรดูแลให้ลูกหลีกเลี่ยงแหล่งอาหารที่มีโซเดียมสูง ซึ่งจะมีอะไรบ้างมาดูกันค่ะ
- ขนมขบเคี้ยว
ขนมกรุบกรอบ หรือขนมถุงต่างๆ ที่เด็กๆ ชื่นชอบนั้น มีปริมาณโซเดียมสูง เช่น ฝรั่งทอดแผ่น 1 ห่อ (30กรัม) มีโซเดียม 170 มิลลิกรัม เฟรนซ์ฟราย 60 กรัม มีโซเดียม 220 มิลลิกรัม ปลาเส้น 1 ซอง มีปริมาณโซเดียมถึง 666 มิลลิกรัม หากกินขนมเพียง 1 ซอง ก็ได้ปริมาณโซเดียมเกินความต้องการต่อวันแล้ว ดังนั้นควรอ่านฉลากก่อนเลือกซื้อขนมหรือของว่างให้ลูก ให้เลือกที่มีโซเดียมต่ำ
- อาหารกึ่งสำเร็จรูปและแปรรูป
อาหารติดบ้านแก้หิวของหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ไส้กรอก หมูยอ ลูกชิ้น อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น แต่รู้ไหมคะว่าโซเดียมเยอะไม่น้อยเลย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ห่อ มีโซเดียม 1,500 มิลลิกรัม โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป 1 ถ้วย มีโซเดียม 1,120 มิลลิกรัม ไข่เค็ม มีโซเดียม 480 มิลลิกรัม/ฟอง และไส้กรอกหมู 1 ไม้ มีโซเดียม 350 มิลลิกรัม
- ซอสปรุงรสต่างๆ
เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ น้ำมันหอย ผงปรุงรสหรือซุปก้อน เป็นต้น ดังนั้นการกินอาหารรสชาติจัด หรือเค็มไป ต้องใส่ซอสปรุงรสต่างๆ ก็เป็นการเพิ่มโซเดียมเข้าสู่ร่างกายได้
ปริมาณโซเดียมที่เด็กควรได้รับ
- เด็กวัยก่อนขวบ ไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 400 มิลลิกรัมmg/วัน
- 1-3 ขวบ ไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 800มิลลิกรัม/วัน
- 4-6 ขวบ ไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 1.2 กรัม/วัน
- 7-10 ขวบ ไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 2 กรัม/วัน
- 11 ขวบขึ้นไป ไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 2.4 กรัม/วัน
ที่มา : National Healthcare Service (ระบบดูแลสุขภาพแห่งชาติของประเทศอังกฤษ)
ปรับพฤติกรรม ลดบริโภคโซเดียม
- หลีกเลี่ยงการปรุงรสเพิ่ม ลดการปรุงรสหวาน มัน เค็ม
- หลีกเลี่ยงขนมกรุบกรอบและอาหารแปรรูปที่โซเดียมสูง
- เลือกอาหารที่มีโซเดียมต่ำ
- ส่งเสริมให้เด็กบริโภคผักผลไม้เป็นประจำ
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ
- ควรอ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อ
หากพ่อแม่ปลูกฝังพฤติกรรมการกินที่ดีให้ลูกตั้งแต่เล็ก ก็จะส่งผลต่อสุขภาพของลูกในระยะยาว เพราะพฤติกรรมการการกินในวัยเด็กและวัยรุ่นจะส่งผลไปถึงพฤติกรรมการกินเมื่อเป็นผู้ใหญ่ด้วย